เปิดชีวิต..ปิดทีวี

by kadocom @1-9-52 10.28 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 55,031 bytes.

เห็นหัวข้อแล้วอย่าเพิ่งตกใจ เดี๋ยวทั้งบริษัทขายทีวี และผู้ผลิตรายการทีวีทุกช่องจะพากันมารุมประณามบทความที่กำลังจะนำเรื่องเด็กกับโทรทัศน์มาเล่าสู่กันฟัง และอันที่จริงเรากำลังนำเสนอให้แปลงโทรทัศน์เป็นทุน นำลูกสู่โลกอย่างชาญฉลาดต่างหาก

ว่ากันว่าโทรทัศน์กับเด็กเป็นสิ่งที่แทบจะแยกกันไม่ออก แม้ว่าจะใช้ความพยายามอย่างมากมายในการที่จะตัดขาดออกจากกันให้ได้ เท่าที่รู้หรือดูจากผลวิจัยทั้งหลาย เราพบว่า เด็กไทยดูโทรทัศน์กันไม่น้อย แถมบางครั้งเจ้าตู้สี่เหลี่ยมมีเสียง มีภาพเหล่านี้ยังกลายเป็นเครื่องมือเลี้ยงลูกให้พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาดูแลลูกไปเสียอีก

แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) หน่วยงานภายใต้สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าว่าด้วยเรื่องราวของเด็กกับโทรทัศน์ไว้อย่างน่าสนใจ และนอกจากจะสรุปว่า จากการวิจัยพบว่าโทรทัศน์มีทั้งผลดีและผลเสียต่อเด็ก การเลือกรายการที่ดีเหมาะสมตามวัยจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมสังคมและพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก

ขณะเดียวกัน หากเลือกรายการที่ไม่เหมาะสม จะเกิดผลลบต่อความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หากพ่อแม่เอาใจใส่เวลาการดูทีวีของลูกอย่างใกล้ชิดก็จะสามารถใช้ทีวีเป็นสื่อที่มีคุณประโยชน์สำหรับเด็กได้ ซึ่งการเลือกรายการโทรทัศน์ที่ดีและเหมาะสมตามวัย จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมสังคม และพัฒนาการด้านภาษาของเด็กๆ ยกตัวอย่างเช่น

ในการนั่งดูทีวีเป็นกิจกรรมที่สมาชิกทุกวัยในครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันได้

  • รายการสารคดีต่างๆ จะทำให้เด็กเรียนรู้ทุกสิ่งรอบตัวทั้งคนและสัตว์ ฯลฯ
  • รายการทีวีที่ดีจะสอนให้เด็กเข้าใจถึงค่านิยมและบทเรียนในชีวิตประจำวัน
  • รายการทีวีประเภทเพื่อการศึกษา เป็นสื่อการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและด้านสังคม
  • รายการทีวีที่ดีมักนำเสนอในประเด็นอ่อนไหว ผู้ใหญ่สามารถนำหัวข้อมาอภิปรายกับเด็กได้
  • รายการข่าว เหตุการณ์รอบตัว ประวัติศาสตร์ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้สถานการณ์ของสังคม
  • รายการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมให้เด็กได้เรียนรู้ เกี่ยวกับโลกของดนตรีและศิลปวัฒนธรรมไทย
  • ผู้ใหญ่ควรใช้ทีวีเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กฝึกหัดอ่านตามรายการทีวีจากหนังสือที่มีเนื้อเรื่องเหมือนกัน

สสย. ยังรวบรวมข้อมูลไว้ด้วยว่า หากเด็กดูโทรทัศน์มากๆ ก็มีข้อเสียกัน เพราะทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น เพราะทั้งแพทย์และนักวิจัยประจำโรงพยาบาลเด็กและศูนย์การแพทย์ภูมิภาคในเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เตือนว่าไม่ควรปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูทีวี

ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่าก็ไม่ควรดูทีวีเกินวันละ 2 ชั่วโมง เนื่องจากระยะของการนั่งดูทีวีเพิ่มขึ้นแต่ละชั่วโมงนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าเด็กที่ไม่ดูทีวีถึงร้อยละ 10 ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อถึงวัยเรียนเด็กที่ดูทีวีมากจะหัวช้ากว่าเด็กคนอื่น

โรคอ้วนและโรคอื่นๆ พิษภัยจากการปล่อยให้เด็กดูทีวีมากเกินไป ซึ่งมีทั้งชักนำโรคอ้วน โรคสายตาสั้น อาการนอนไม่หลับ ภูมิต้านทานโรคต่ำ ไปจนถึงการแตกเนื้อหนุ่มสาวก่อนวัย สอดคล้องกับรายงานผลการวิจัยจากสหรัฐอเมริกา จากหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ ฉบับออนไลน์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านกุมารเวชศาสตร์ และด้านที่เกี่ยวกับวัยรุ่น

ซึ่งระบุว่าการดูโทรทัศน์มีการเชื่อมโยงกับการรับประทานอาหาร การดูการ์ตูนที่มีโฆษณาแฝงจะมีอิทธิพลต่อเด็กก่อนวัยเรียนในเรื่องการเลือกรับประทานอาหารจากโฆษณา และการลดจำนวนเวลาการดูทีวีของเด็กๆ ลงครึ่งหนึ่ง ทำให้พวกเขาลดปริมาณการรับประทานอาหารและลดน้ำหนักลงได้อย่างได้ผล

ทั้งนี้ โทรทัศน์จะมีผลกระทบกับเด็กมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ จำนวนเวลาที่ดู อายุและพื้นฐาน บุคลิกภาพของเด็ก การปล่อยให้เด็กดูคนเดียวหรือดูกับผู้ใหญ่ และพ่อแม่ได้อธิบายสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์ให้ลูกเข้าใจหรือไม่

ไม่ ไม่ ไม่ ตัดไฟแต่ต้นลม

สสย. ยังได้คำแนะนำว่า พ่อแม่ควรใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลมในการทำให้ลูกไม่ติดโทรทัศน์หรือรับเฉพาะส่วนที่เป็นพิษเท่านั้น โดยแนะนำให้ไม่ทำสิ่งต่อไปนี้

  • ไม่ให้ดูโทรทัศน์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กแรกเกิดยังไม่รู้จักโทรทัศน์ เราก็ไม่ให้เขาดูโทรทัศน์ตั้งแต่ตอนนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เขาคุ้นเคยกับการดูโทรทัศน์
  • ไม่นำโทรทัศน์ไว้ในห้องนอนของเด็ก
  • ไม่ดูโทรทัศน์มากจนเป็นตัวอย่างของเด็ก
  • ไม่มีโทรทัศน์เพียงอย่างเดียวในบริเวณนั้น ควรมีอุปกรณ์หรือของเล่นที่เป็นทางเลือกอื่น มีชั้นหนังสือ มีเกมฝึกสมองหรือเครื่องดนตรีสำหรับให้เด็กฝึกเล่น
  • ไม่ปล่อยให้เด็ก ดูโทรทัศน์ตามลำพังคนเดียว แต่ถ้าหากเด็กต้องการดูโทรทัศน์ให้คัดเลือกเนื้อหาที่สร้างสรรค์ เช่น รายการสารคดี รายการที่ส่งเสริมคุณธรรม และเหมาะกับช่วงวัยและพัฒนาการของเด็ก
  • ไม่ปล่อยให้โทรทัศน์เป็นพี่เลี้ยงเด็กแทนตนเอง

หลักง่ายๆ ที่ไม่ยากเกินไปเท่านี้ ก็สามารถช่วยแปลงโทรทัศน์ให้เป็นทุนได้แล้ว ที่สำคัญ การเปิดชีวิตด้วยปิดทีวีให้ลูกนั้น ขณะนี้มีหลายคนกำลังดำเนินการกันทั่วโลก ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wechange555.com และ www.childmedia.net

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล