เด็กไทยทั้งประเทศตกวิเคราะห์

by kadocom @25-8-52 08.54 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 37,807 bytes.

สทศ.เผยผลวิเคราะห์  GAT, PAT สองครั้งพบเด็กทำคะแนนต่ำทั้งประเทศ กระทบมหา'ลัยได้แต่เด็กหางครีมเข้าเรียน ส่วนเด็ก ม.6 ได้คะแนนดีกว่า ม.5 เพราะได้เรียนเนื้อหาครบ  ขณะที่ภาพรวมเด็กไทยอ่อนการคิดวิเคราะห์  สะท้อนการเรียนการสอนในโรงเรียน แนะทบทวนเลิกสอนแบบเน้นเนื้อหา แต่ควรฝึกให้เด็กได้คิดมากขึ้น

ศ.ดร.อุทุมพร  จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยผลวิเคราะห์การจัดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ  หรือ PAT ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดสอบไปเมื่อเดือน มี.ค. และครั้งที่  2  ซึ่งจัดสอบไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนการสอบครั้งที่  2  สูงขึ้นในวิชา  GAT, PAT 5  ความถนัดทางวิชาชีพครู PAT 6 ความถนัดทางด้านศิลปกรรมศาสตร์  และ PAT  7  ความถนัดทางด้านภาษาต่างประเทศ  และพบว่าการสอบครั้งที่  2  นักเรียนชั้น  ม.5  ทำคะแนนได้ต่ำกว่านักเรียนชั้น ม.6  เกือบทุกวิชา สำหรับการสอบครั้งที่ 2 วิชาที่ได้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่าครั้งแรก  ได้แก่  PAT  1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์, PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์, PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์, PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์, PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส, PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ และ PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี

นอกจากนั้นยังพบว่าเด็กที่สอบเดือน  ก.ค.เป็นครั้งแรกคือเด็กกลุ่ม  ม.4  ขึ้น ม.5 และเด็กที่อยู่ ม.5 ทำคะแนนได้น้อยกว่าเด็กที่สอบทั้ง 2 ครั้งเกือบทุกวิชา  แต่คงจะไม่สามารถสรุปได้ว่าการสอบหลายครั้งจะทำให้มีประสบการณ์และทำคะแนนได้มากขึ้น  ซึ่งการที่เด็ก ม.6  ที่สอบ 2 ครั้งสามารถทำคะแนนได้มากกว่าอาจเป็นเพราะเด็กอยู่ชั้น ม.6  ได้รับความรู้จากเนื้อหาครบ  ส่วนคะแนน GAT  ข้อสอบแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การคิดวิเคราะห์  150  คะแนน และภาษาอังกฤษอีก 150 คะแนน ซึ่งพบว่าคะแนนส่วนการคิดวิเคราะห์นักเรียนที่อยู่ชั้น ม.6  ได้คะแนนสูงกว่าเด็กชั้น ม.5  แสดงให้เห็นว่าเด็กที่เรียนอยู่ ม.6  มีการคิดวิเคราะห์ได้ดีกว่าเด็ก ม.5

ทั้งนี้  ยังพบว่าการสอบทั้ง 2 ครั้ง มีเด็กสามารถทำคะแนน GAT ได้เต็ม 300 คะแนน จำนวน 2 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นนักเรียน รร.สตรีวัดมหาพฤฒารามในพระบรมราชินูปถัมภ์ ชื่อ น.ส.ยุวพร เกษจุฬาศรีโรจน์  ซึ่งสอบถามเด็กก็พบว่า  เด็กไม่ได้กวดวิชา  มีวิธีการเรียนคือเรียนไปทบทวนไป  ที่สำคัญคือการสอนของทางบ้าน  ซึ่งพ่อจะสอนให้อ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก  และฝีกตั้งคำถามจากการอ่าน และสอนให้แสวงหาความรู้ ซึ่งเป็นการสอบ GAT ให้ได้ดี ต้องมีการฝึกอ่าน คิด วิเคราะห์ ที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก

"การสอบทั้ง  2 ครั้งพบว่าเด็กทำคะแนนได้ไม่ผ่านเกือบทั้งประเทศ เท่ากับว่าเด็กสอบแข่งขันในเกณฑ์คะแนนที่ต่ำอย่างไรก็ตาม  ข้อสอบ GAT เน้นการคิดวิเคราะห์ การที่เด็กได้คะแนนน้อยสะท้อนให้เห็นว่า รร.ไม่ได้สอนให้เด็กคิด  วิเคราะห์เป็น ซึ่งเรื่องนี้คงต้องกลับมาทบทวน  รร.การเรียนการสอน โดยสอนให้เด็กฝึกตั้งคำถามว่า  ทำไม  เพื่อฝึกการวิเคราะห์  ไม่ใช่สอนแต่เนื้อหา และควรลดเนื้อหาให้น้อยลง แต่ให้เด็กได้คิดมากขึ้น  การสอบ GAT  และ PAT  เป็นการสอบคัดเลือก ไม่ใช่การสอบเพื่อวัดศักยภาพเหมือนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน  หรือโอเน็ต  แต่ การที่คะแนนออกมาต่ำฟ้องว่าการคัดเลือกของมหาวิทยาลัยจะได้เด็กหางครีมเข้า ไป แต่ก็ต้องถือว่าเขาเป็นเด็กที่สอบผ่านการคัดเลือก" ผอ.สทศ. กล่าว  ส่วน PAT ถ้าได้คะแนนสูงก็สะท้อนว่าเขามีความรู้ความสามารถที่จะไปเรียนในสาขาที่เลือกได้ประสบความสำเร็จ  แต่คะแนนที่ออกมาก็ไม่สูงนัก  มีเพียง  10%  ที่ได้ 200-300 คะแนน ในการสอบทั้ง 2 ครั้ง

ศ.ดร.อุทุมพรกล่าวอีกว่า  ก่อนการสอบตั้งธงว่าเด็กควรจะได้คะแนนประมาณ 3 ใน 4 ของคะแนนเต็ม  ซึ่งหลังจากสอบแล้วก็พบว่าเด็กได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์  แต่อย่างไรก็ตาม  จะต้องทำวิจัยตามจนกว่าเด็กกลุ่มนี้จะจบ ปี.4  แล้วย้อนกลับไปดูว่าเด็กกลุ่มนี้ได้คะแนน  GAT  มากน้อยแค่ไหน จึงจะสามารถบอกได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล