มาทำสมาธิ...ลดความเครียดกันเถอะ

by kadocom @25-5-52 11.22 ( IP : 202...20 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 38,409 bytes.

คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าทำไมจึงเครียด เพราะไม่เคยสังเกตตัวเอง เมื่อมีสิ่งมากระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือคิดอะไรขึ้นในใจ ถ้าเป็นสิ่งที่ (ตา หู จมูก ใจ) เราชอบ อร่อย (ลิ้น) สนุก (ใจ) สบาย (กาย) เรามักจะไม่เครียด โดยเฉพาะเป็นสิ่งที่สมอยาก (ตัณหา) สมหวัง หรือ รอมานาน


          แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ (แม้จะเป็นสิ่งที่เคยชอบ) ทำให้ไม่ชอบไม่ถูกใจ ไม่ได้ดั่งใจ หรือ มาดูถูก มาทำให้ตัวเราด้อยค่า (มานะ) มากระทบความคิดเห็นของตัวเรา (ทิฐิ) ฯลฯ ก็จะเริ่มหงุดหงิด เครียด ฉุนเฉียว โมโห


          บางคนความเครียดจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดอาการไม่สบาย เช่น ปวดเมื่อยต้นคอ ศีรษะ หนักหัว มึนงง นอนไม่หลับ ฯลฯ แท้จริงแล้ว เรารู้สึกเครียดมากน้อยขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า มีมุมมอง ท่าทีต่อสิ่งเร้านั้นอย่างไร


          วิธีจัดการกับความเครียดอย่าง "การเจริญสมาธิ" เป็นวิธีปฏิบัติในหลายศาสนา เป็นวิธีหนึ่งในการเข้าสู่ความสงบสุขทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นทั้งวิธีคลายความเครียดที่มีอยู่ และยังเป็นทางหนึ่งในการป้องกัน เข้าใจสาเหตุและปัจจัยส่งเสริมความเครียดในชีวิตประจำวันของเราได้


          ในพุทธศาสนามีวิธีเจริญสมาธิถึง 40 วิธี วิธีที่นิยมมากคือ อาณาปานสติ โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตสงบตั้งมั่น อิริยาบถใหญ่ทั้ง 4 ของคนเราก็เจริญสมาธิได้ เช่น นั่งสมาธิแบบพุทธ หรือแบบชี่กง นอนท่าศพแบบโยคะ ยืนอรหันต์แบบชี่กง หรือเดินจงกรมแบบพุทธ ก็สามารถเข้าสมาธิจนใจสงบนิ่ง และใช้ใจที่มีสมาธิพิจารณาความเครียดในตัวเอง ให้เข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้


          ตัวอย่างวิธีการนั่งสมาธิอย่างง่าย


          1. เวลาที่นั่งสมาธิควรเป็นเวลาที่ไม่หิว ไม่อิ่ม ไม่กลั้นอุจจาระ/ปัสสาวะ นั่งบนเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิง หรือไม่พิงพนักในท่าที่สบาย ยืดตัวตรง มือทั้งสองวางบนหน้าตัก ผ่อนคลายทั้งตัว


          2. กำหนดใจให้สนใจแต่เสียงเพลงสวด หรือเพลงบรรเลง หายใจเข้าออกช้าๆ ยาวๆ


          3. ถ้าใจคิดถึงเรื่องใดๆ ให้กำหนดใจกลับมาที่เสียงเพลงทุกครั้ง ประคองใจไว้


          4. ถ้ามีอาการบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ร้อน ชา น้ำมูกน้ำตาไหล ให้เฝ้าดูอาการนั้นไปเรื่อยๆ ใจยังกำหนดอยู่ที่เสียงเพลง จนรู้สึกความสงบสุขในใจ


          5. รู้สึกกายผ่อนคลาย ใจโปร่งเบา ปล่อยวางจากความเครียดต่างๆ แต่ถ้าไม่มีเสียงดนตรีหรือเพลงสวด ให้กำหนดใจที่ลมหายใจเข้าออก ร่วมกับการภาวนาในใจ ว่า "ผ่อน" เวลาหายใจเข้า "คลาย" เวลาหายใจออก หรือ "ปล่อย" เวลาหายใจเข้า "วาง" เวลาหายใจออก ความสุขสงบจะค่อยๆ เกิดในใจเรา






ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.thaihealth.or.th/node/9142

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล