นั่งหน้าจอคอมฯ นาน เสี่ยงโรคตา-กระดูก

by kadocom @22-12-51 13.35 ( IP : 202...20 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 30,891 bytes.

ปัจจุบันมักพบเห็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานในออฟฟิศหรือสำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการหรือเอกชน และตามบริษัท ห้างร้าน ก็มีให้เห็นกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์มากมายเหลือคณานับ

          อย่างไรก็ตาม การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้พักผ่อนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ โรคที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ได้แก่

1.กลุ่มอาการทางตาจากคอมพิวเตอร์

          เป็นกลุ่มอาการที่เกิดกับสายตาและการมองเห็น

          สาเหตุ เกิดจากการใช้สายตาจ้องมองจอคอมพิวเตอร์นานๆ ทำให้มีผลต่อดวงตา รวมถึงรังสีที่แผ่ออกมาบริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์อีกด้วย

          อาการ อาจรู้สึกแสบตา ไม่สบายตา เกิดการระคายเคืองตา เจ็บตา ตาพร่าจากการจ้องมองที่ไม่ค่อยกะพริบตา ส่งผลให้ตาแห้ง ซึ่งเป็นอาการเพียงชั่วคราว แต่หากเป็นบ่อยๆ และนานขึ้นอาจเกิดอันตรายได้ เช่น กระจกตาอักเสบแห้ง สายตาสั้นชั่วคราวประมาณร้อยละ 32 นอกจากนี้อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ไหล่ ปวดหลัง จากที่นั่งทำงานไม่เหมาะสม

          การรักษา อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมหยอดตาบ่อยๆ หรือยาหยอดตาชนิดที่ยับยั้งการคั่งของเลือดบริเวณตา

        การป้องกัน

          1) ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เนื่องจากทำให้สายตาเกิดความเมื่อยล้า ฉะนั้นจำเป็นต้องพักสายตา เช่น หลับตาทุก 10 นาทีต่อการทำงาน 1 ชั่วโมง หรือพักทุก 15 นาทีต่อการทำงานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง เป็นต้น ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมงติดต่อกันพบว่ามีอาการ CVS ร้อยละ 88

          2) ควรจัดสถานที่ตั้งคอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงสว่างพอเหมาะ โดยเฉพาะจอภาพ แป้นพิมพ์ และที่วางเอกสาร จะช่วยให้สบายตา หรืออาจใช้หลอดไฟโซเดียมเพื่อให้แสงสว่าง

          3) ควรใช้แผ่นกรองแสงเพื่อลดแสงจ้าและแสงสะท้อน จะช่วยลดความล้าของสายตาลงได้

2.กลุ่มอาการปวดข้อ

          เป็นกลุ่มอาการของผู้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดอาการของโรคกระดูกข้อมือเจ็บปวด ข้อกระดูกนิ้วมือเสื่อม และชา

          สาเหตุ เกิดจากการกดแป้นพิมพ์และการใช้เมาส์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน การจับเมาส์โดยมีข้อมือเป็นจุดหมุน อาจเกิดพังผืดบริเวณข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดอาการชาจนไม่สามารถหยิบของได้

          การรักษา หากเริ่มมีอาการต้องรับประทานยาแก้ปวด และหยุดการเคลื่อนไหวโดยการพักข้อมือ อาการอาจทุเลาลงได้ และอาการปวดจะหายไปในที่สุด หากปวดบวมให้รับประทานยาระงับปวดและอาจสวมอุปกรณ์ประคองมือเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ หรือฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เข้าบริเวณข้อมือ เพื่อลดการอักเสบโดยตรง ส่วนในรายที่เป็นมานานอาจจำเป็นต้องผ่าตัดจึงจะได้ผลดี

          การป้องกัน

          1) ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เนื่องจากจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย

          2) ควรจัดวางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากตัวพอดีกับแขนที่จับเมาส์และแป้นพิมพ์ให้สบายๆ ไม่เหยียดหรืองอข้อมือเกินไป

          3.) ขณะปฏิบัติงานพิมพ์บนแป้นพิมพ์ควรจัดให้ท่อนแขนวางอยู่ในแนวขนานกับพื้น

          4) ควรมีแผ่นรองข้อมือมาวางเมาส์จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณข้อมือได้มาก

          5) การเคลื่อนไหวขณะนั่งปฏิบัติงานต้องให้ถูกลักษณะท่าทาง ไม่เอี้ยวตัวไปมามากเกินไป หากหยิบจับสิ่งของจำเป็นต้องออกแรงทั้งมือและนิ้ว

        ข้อเสนอแนะ

          การปรับอุปกรณ์สำนักงานให้ถูกต้อง เป็นวิธีการป้องกันอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการเจ็บป่วย ซึ่งมีผลมาจากการเคลื่อนไหวและการวางตำแหน่งของสรีระในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง โดยมีแนวทางการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ ให้ถูกต้องดังนี้

          1.เก้าอี้ ควรเป็นขนาดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ขอบด้านหน้าของเบาะนั่งควรมีลักษณะโค้งเพื่อให้มีพื้นที่ว่างระหว่างด้านหน้าของเบาะกับด้านหลังของหัวเข่า ความสูงของเบาะและพนักพิงต้องปรับได้ สะโพก หัวเข่า และข้อเท้า ควรทำมุมอย่างน้อย 90 องศา พนักพิงต้องสัมผัสกับแผ่นหลังโดยสมบูรณ์ และที่เท้าแขนสามารถช่วยพยุงแขนขณะใช้แป้นพิมพ์

          2.จอภาพ ควรอยู่ในตำแหน่งตรงหน้าผู้ใช้ จัดให้ห่างจากผู้ใช้อย่างน้อย 3 ฟุต (ยิ่งห่างยิ่งดี) จอภาพควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 5 นิ้ว หรือประมาณ 10-20 องศา และสามารถปรับความสูงของจอภาพได้ด้วยแท่นวางปรับมุมเงยของจอภาพ เพื่อลดแสงจ้าหรือแสงสะท้อนจากดวงไฟเหนือศีรษะหรือหน้าต่าง นอกจากนี้ควรใช้จอกรองแสงเพื่อป้องกันแสงจ้าและรังสีต่างๆ

          3.แป้นพิมพ์และเมาส์ ควรวางตำแหน่งของแป้นพิมพ์และเมาส์ในระยะห่างและความสูงที่พอเหมาะ ปล่อยแขนตามธรรมชาติ และให้ข้อศอกอยู่ใกล้ตัว ซึ่งจะช่วยให้เกิดมุมที่เหมาะสมระหว่างข้อศอกและข้อมือ

          4.ถาดวางแป้นพิมพ์และเมาส์ ควรมั่นคงแข็งแรงและปรับได้ในหลายลักษณะของการใช้งานที่เหมาะสม แต่ยังคงให้ข้อมืออยู่ในตำแหน่งตรงกลาง และสามารถวางที่พักข้อมือได้

          5.แป้นหนีบเอกสารต้องอยู่ระดับเดียวกันและใกล้จอคอมพิวเตอร์มากที่สุดจะช่วยให้คออยู่ในตำแหน่งตั้งตรง ซึ่งจะช่วยลดการเคลื่อนไหวของศีรษะและลดความเครียดของกล้ามเนื้อตา

          6.ที่พักข้อมือต้องปราศจากขอบที่แข็งหรือคม โดยมีหน้ากว้างเพียงพอแก่การพยุงข้อมือและฝ่ามือ

          7.ที่วางเท้า ควรมั่นคงแข็งแรง สามารถปรับความสูงได้ ไม่ลื่น และมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะให้ความสะดวกสบายขณะวางเท้า

          8.โคมไฟ ควรให้แสงสว่างเพียงพอแก่การมองดูเอกสาร นิยมแสงแบบอุ่นจะช่วยลดแสงกระจายและสายตาเมื่อยล้า โดยปราศจากแสงจ้าบนเอกสารหรือจอคอมพิวเตอร์

          คำแนะนำเหล่านี้จะช่วยลดอาการต่างๆ ที่เกิดจากการทำงานได้ หากยังมีอาการอยู่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

ที่มา หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล