ถึงยุควัยโจ๋คลั่งไอที แหล่งบ่มเพาะพฤติกรรมด้านลบ

by kadocom @9-11-50 09.17 ( IP : 202...21 ) | Tags : มุมวิชาการ

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตแทรกซึมเข้าไปทุกอนูของชีวิต กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ ได้กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น นอกเหนือไปจากดารา- นักร้องที่มักถูกนำมาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าชนิดต่างๆ เพื่อจูงใจให้กลุ่มวัยรุ่นซื้อสินค้าชนิดนั้นๆ


แม้ว่าผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ช่องว่างของการใช้งานสินค้าไฮเทคลดลง กลุ่มคนแทบจะทุกประเภทสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในท้องตลาดได้อย่างไม่ยาก แต่ด้วยการควบคุมที่ยังหละหลวมและไม่มีความชัดเจนของบ้านเรา ทำให้กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางสำคัญให้วัยรุ่นไทย เสพสิ่งมัวเมา และบ่มเพาะพฤติกรรมด้านลบอย่างต่อเนื่องกลายเป็นปัญหาสังคมให้เห็นอยู่เนืองๆ

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเว็บไซต์ยอดนิยมต่างๆ กว่า 30 แห่ง ทำการสำรวจพฤติกรรมกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2550 แบบออนไลน์พบว่า พฤติกรรมของวัยรุ่นมีความเปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนๆ ค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มจะบ่มเพาะพฤติกรรมเชิงลบมากขึ้น

เว็บลามกแซงหน้าอีเมล์ขยะ

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวถึงผลสำรวจอินเทอร์เน็ตปี 2550 พบว่า สัดส่วนของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด อยู่ในระดับอายุตั้งแต่ 20-25 ปี เฉลี่ย 19.9% รองลงมา คือระดับอายุ 26-30 ปี เฉลี่ย 18.5% และกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี เฉลี่ย 16.5%  อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 28,582 คน ซึ่งกลุ่มอายุที่เข้ามาตอบแบบสอบถามมากที่สุดอยู่ในะดับอายุตั้งแต่ 20-30 ปี ทำให้กิจกรรมที่ทำบนอินเทอร์เน็ตมากที่สุดของคนกลุ่มนี้ อันดับ 1 ยังเป็นการสืบค้นข้อมูล เฉลี่ย 22.9% รองลงมาเป็นการใช้อีเมล์ 20.5%

ด้านพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาต่างๆ ผู้ตอบระบุว่า ใช้อินเทอร์เน็ตจากบ้านมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ที่ทำงาน และสถานศึกษา ตามลำดับ โดยช่วงเวลาที่ใช้มากที่สุดอยู่ในช่วงเวลา 20.01-24.00 น.

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจถึงปัญหาที่พบจากการใช้อินเทอร์เน็ตปีนี้ พบว่า ปัญหาการมีแหล่งยั่วยุทางเพศโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ ได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 3 แทนที่ปัญหาอีเมล์ขยะ ส่วนปัญหา 2 อันดับแรก ยังคงเป็นเรื่องไวรัส และความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ประมาณ 36.8% เห็นว่า ประเด็นทางด้านอินเทอร์เน็ตที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ เรื่องไวรัส และการรักษาความมั่นคงของเครือข่ายซึ่งจะสอดคล้องกับปัญหาที่พบจากการใช้อินเทอร์เน็ต

วัยรุ่นไทยติดเกมส์ขั้นโคม่า

แต่พฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ยังเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่นิยมกิจกรรมออนไลน์สุดฮิตในยุคนี้ ทั้งการสนทนาออนไลน์ การเล่นเกมส์ การอ่านหรือเขียนบล็อก และเว็บบอร์ดมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับ หรือแม้แต่มาตรการที่จะคัดกรองเพื่อให้เหมาะสมกับอายุของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในส่วนของเกมส์ออนไลน์นั้น มีด้วยกันหลากหลายประเภท แต่ที่พบเห็นได้บ่อยคือ เกมส์ที่ใช้ความรุนแรงประเภท สงครามฆ่ากัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นักจิตวิทยาระบุว่า เป็นที่มาของนิสัยนิยมความรุนแรงของเยาวชนไทย

นอกจากนี้ ในส่วนของสนทนาออนไลน์นั้น ยังคงเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว กอปรกับความทันสมัยที่มากขึ้นทำให้รูปแบบของแชทพัฒนาไปถึงขั้นมีทั้งภาพและเสียงได้ด้วย ทำให้ภัยคุกคามที่มาจากการแชทยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นกรณีการล่อลวงผ่านการสนทนาออนไลน์หรือแชท ทั้งในรูปแบบของการล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้ายร่างกาย หรือการฉ้อโกงทรัพย์สิน ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่มักเป็นเด็กวัยรุ่น เนื่องจากมีวิจารณญาณในการสนทนาผ่านรูปแบบของการแชทค่อนข้างต่ำจึงทำให้ถูกล่อลวงได้ง่ายและกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเหล่ามิจฉาชีพ

เน็ตแรงดันกระแสนิยมแชท-เกมส์พุ่ง

สาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้วัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมดังกล่าว น่าจะมาจากจากผลของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผลสำรวจของเนคเทคในครั้งนี้พบว่าตัวเลขของการช่องทางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความเปลี่ยนแปลง โดยการเชื่อมต่อแบบ Dial up ลดลงจาก 39%เหลือเพียง 14.3% ในขณะที่การเชื่อมต่อผ่าน ADSL ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพิ่มขึ้นจาก 19.3% เป็น 36.8% สาเหตุมาจากราคาค่าบริการที่ลดลงมาก และข้อมูลต่างที่มีอยู่บนเว็บไซต์มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นรวมทั้งขนาดของไฟล์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้ศักยภาพด้านเครือข่ายคุณภาพสูง

ประกอบกับในช่วงปีที่ผ่านมี คอมพิวเตอร์มีการนำเสนอชิปประมวลผลรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทำให้ คอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิปรุ่นเก่ามีราคาถูกลงมาก ซึ่งกิจกรรมในกลุ่มของเกมส์ออนไลน์และแชทนั้นเป็นบริการหนึ่งที่ต้องการใช้สมถรรนะของคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพสูงและเครือข่ายความเร็วสูง ผู้ใช้งานจึงจะสามารถใช้บริการได้

เด็กเชียงใหม่ติดเกมออนไลน์

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ได้มีข้อมูลการสำรวจจากอีกหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งได้ผลการสำรวจที่เป็นข้อมูลสนับสนุนกันแต่เน้นเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดย กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรม จ.เชียงใหม่ได้ลงพื้นที่ตรวจร้านอินเทอร์เน็ตกับสารวัตรนักเรียน พบว่าเด็กและเยาวชนใน อ.เมือง และ อ.ฝาง จะมาเล่นเกมส์ในเวลาเรียน บางคนยังแต่งเครื่องแบบนักเรียนอยู่ สารวัตรนักเรียนได้ตักเตือนและลงโทษตามขั้นตอน

เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ปกครองร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของศูนย์ดำรงธรรมว่ามีร้านเกมส์ออนไลน์เปิดใกล้สถานศึกษา เปิดเกินเวลาโดยผลสำรวจพบนักเรียนนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพและวัย 306 คน เป็นชาย 226 คน หญิง 80 คน เที่ยวเตร่ในเครื่องแบบ/นอกเครื่องแบบ 127 คน คิดเป็นร้อยละ 41.50 เล่นวิดีโอเกมส์ 69 คน ร้อยละ 22.55 มั่วสุมดมกาว เสพยาบ้า ดื่มสุรา ดื่มเบียร์ สูบบุหรี่ 66 คน ร้อยละ 21.57 เล่นสนุกเกอร์ 27 คน ร้อยละ 8.82 หลบหนีโรงเรียน 13 คน ร้อยละ 4.25 แสดงพฤติกรรมทางชู้สาว 3 คน ร้อยละ 0.98 และพกพาสื่อลามก 1 คน ร้อยละ 0.33

สถานที่ตรวจพบนักเรียนมากที่สุดคือกาดสวนแก้ว 69 คน และร้านวิดีโอเกม 69 คน ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเวลา 12.01-14.00 น. รองลงมาเวลา 14.01-15.00 น. ระดับปวช.มากที่สุด รองลงมา ม.ปลาย ส่วนใหญ่อายุ 14-16 ปี รองลงมา 17-18 ปี สาเหตุเบื้องต้นที่เด็กประพฤติไม่เหมาะสมมากที่สุดคือ จากสถานศึกษา รองลงมาจากตัวนักเรียนนักศึกษา โดยอ้างว่าโรงเรียนเลิกแล้วมีคาบเรียนว่าง โรงเรียนจัดกิจกรรม ทำธุระส่วนตัว ไม่อยากเรียน อยากเที่ยว อยากลอง ฯลฯ

จีนกุมขมับไม่ต่างจากไทย

พฤติกรรมเชิงลบที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นนั้น ไม่ใช่แต่ประเทศไทยที่ประสบกับภาวะดังกล่าว ในประเทศจีนก็เช่นเดียวกัน มีรายงานการสำรวจพบว่า ประเทศจีนมีวัยรุ่นหญิงท้องไม่มีพ่อจำนวนมากขึ้นซึ่งสาเหตุใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต  โดยหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี ของจีน รายงานว่า เกือบครึ่งของวัยรุ่นที่ตั้งท้องในนครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางทางการเงินของจีน พบคู่ทางอินเทอร์เน็ต

รายงานอ้างคำกล่าวของ ดร.จาง เจิงหรง แห่งโรงพยาบาลหมายเลข 411 ในนครเซี่ยงไฮ้ ว่า ร้อยละ 46 ของเด็กผู้หญิงกว่า 20,000 คน ที่ใช้บริการฮอตไลน์ปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กล่าวว่า พวกเธอมีเพศสัมพันธ์กับเด็กผู้ชายที่รู้จักกันทางออนไลน์ และส่วนใหญ่คนที่เป็นพ่อของเด็กในท้องก็มักหายหน้าไปทันทีที่รู้ว่าคู่ของตนเองกำลังตั้งครรภ์ และในบางรายเด็กผู้หญิงไม่เคยรู้ชื่อจริงของคู่นอนด้วยซ้ำ

แม้ว่าการสำรวจของเนคเทคในครั้งนี้จะมาจากการสำรวจผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณของผู้ใช้งานทั้งหมด แต่ตัวเลขดังกล่าว เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีได้ในระดับหนึ่งว่า หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว น่าจะตื่นตัวและทำการสำรวจเชิงลึก เพื่อหาทางปรับปรุงและแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวให้ดีขึ้นก่อนที่จะบานปลายเกินกว่าจะแก้ไข และให้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อเชิงบวกที่บ่มเพาะเยาวชนไทยให้มีคุณภาพดีขึ้น


ขอบคุณที่มา  http://www.arip.co.th/2006/blogs.php?g1=0&blogger=eweek&id=406917

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล