3 สถาบันวิจัยสากลเผยไทย ติดกลุ่มด้อยพัฒนา "ไอซีที"

by kadocom @31-8-50 11.31 ( IP : 202...21 ) | Tags : มุมวิชาการ

นายรุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร ประธานอนุกรรมการ อี-อินดัสตรี สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า สถาบันสากลที่ได้รับการยอมรับ 3 แห่ง คือ สถาบันการพัฒนาการจัดการนานาชาติ (ไอเอ็มดี), เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (ดับลิวอีเอฟ) และอีโคโนมิสต์ อินเทลิเจนท์ ยูนิต (อีไอยู) ได้เผยผลสำรวจศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนาด้านไอซีทีของกว่า 68 ประเทศ ปรากฏว่าไทย จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ด้อยการพัฒนา โดยการศึกษาของสถาบันไอเอ็มดีจัดประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 48 โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ขณะที่สถาบันอีไอยู ศึกษาความสามารถทางการแข่งขันด้านไอซีที ลำดับที่ 41 ส่วนสถาบันดับบลิวอีเอฟ ให้ความพร้อมของประเทศไทยด้านโครงข่ายโทรคมนาคม ลำดับที่ 34

สถาบันดับบลิวอีเอฟ ได้สรุปถึงการพัฒนาไอซีทีของประเทศไทยว่า มีจุดแข็งที่ภาครัฐมีการริเริ่มและเตรียมการในด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารที่ดี

ส่วนภาคธุรกิจก็มีความพร้อม และกำลังเริ่มใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างกว้างขวาง แต่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการศึกษาของประเทศยังไม่ดีพอ ทำให้ประชาชน ไม่สามารถพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ดีเท่าที่ควร

ขณะที่ สถาบันอีไอยู สรุปไทยมีจุดแข็งที่รัฐบาลส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในภาคธุรกิจได้ดี มีการส่งเสริมการลงทุนที่ดีพอสมควร ทั้งบุคลากรและนักศึกษาก็มีมาก เหมาะแก่การพัฒนาดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมไอที ประกอบกับรัฐบาลเริ่มประกาศใช้กฎหมายการกระทำความผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการดูแลและควบคุมบังคับใช้ อาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะทำให้ปัจจัยทางด้านกฎหมาย และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยค่อยๆ ดีขึ้น

ทางด้านที่เป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทยก็คือ โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ต ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งมีการวิจัยด้านไอทีน้อย

สถาบันอีไอยู ยังได้เสนอ การศึกษาประเทศชั้นนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับกลุ่มประเทศที่กำลังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยเฉพาะประเทศเวียดนามนั้น ธุรกิจเอาท์ซอร์ส และการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภายในประเทศอยู่ในระดับที่รวดเร็ว แต่ไม่มีการกล่าวถึงประเทศไทยแต่อย่างใด

แนวทางการพัฒนาไอซีทีในอนาคต ยุทธศาสตร์การพัฒนามีการกำหนดไว้อย่างดีอยู่แล้ว มีการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรและประชาชน เริ่มมีงบประมาณสนับสนุนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีในลักษณะรูปธรรมมากเท่าที่ควร ดังนั้น ต้องเร่งดำเนินการให้ชัดเจนมากขึ้น


ที่มา  http://www.arip.co.th/2006/news.php?id=406741

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล